1. "เพชร" (Diamond) หรือ "แก้ววิเชียร" ถูกค้นพบครั้งแรกที่ประเทศอินเดียเมื่อประมาณ 3,000 ปีที่แล้ว โดยชาวฮินดูโบราณเชื่อกันว่า เพชรเป็นเครื่องรางของขลังตามธรรมชาติที่บริสุทธิ์ มีพลังอำนาจสามารถดลบันดาลความสำเร็จสมหวัง ความเข้มแข็ง ความโชคดี และความมั่งคั่ง ให้กับผู้ที่ได้ครอบครองเป็นเจ้าของ ในทางวิชาแร่ (Mineralogy) ได้ตรวจสอบพบว่า เพชรมีส่วนประกอบเป็นธาตุถ่าน (C) หรือคาร์บอนบริสุทธิ์ที่มีความแข็งที่สุดในบรรดาแร่ธรรมชาติทั้งหลายที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ มีค่าความแข็งระดับ 10 ในระบบของโมส์ (Moh's scale) มีค่าความถ่วงจำเพาะ 3.52 ค่าดัชนีหักเห 2.417 มีการกระจายแสง 0.044
2. "ทับทิม" (Ruby) หรือ "แก้วปัทมราช" ภาษาบาลีเรียกว่า "รตฺตํ" หมายถึง แก้วที่มีสีแดงงามสดใส ภาษาสันสกฤตเรียกว่า "Ratnaraj" หมายถึง "กษัตริย์หรือราชาแห่งอัญมณีทั้งปวง" ในประเทศศรีลังกา สาธุชนที่นับถือพระพุทธศาสนาจะเรียกทับทิมว่า "น้ำตาของพระพุทธเจ้า" (tears of Buddha) ชาวโรมันโบราณจะเรียกทับทิมว่า "ดอกไม้ในหมู่หิน" (a flower among stones) ส่วนชาวกรีกโบราณจะเรียกทับทิมว่า "มารดาแห่งอัญมณีทั้งหลาย" (the mother of all gemstones) ทางด้านความเชื่อ เชื่อตรงกันทั่วโลกว่า ทับทิมจะช่วยให้เกิดความสำเร็จและความมั่งคั่งแก่ผู้ที่ได้ครอบครองเป็นเจ้าของ อีกทั้งยังช่วยส่งเสริมด้านสุขภาพให้แข็งแรง หายจากโรคภัยไข้เจ็บได้อีกด้วย ในทางวิชาแร่ (Mineralogy) ได้ตรวจสอบพบว่า ทับทิมจัดอยู่ในประเภทของแร่คอรันดัม (Al2O3) ซึ่งมีส่วนประกอบของโครเมียม (Cr3+) เป็นธาตุร่องรอย มีค่าความแข็งระดับ 9 ในระบบของโมส์ (Moh's scale) มีค่าความถ่วงจำเพาะ 4.0 - 4.1 ค่าดัชนีหักเห 1.76 - 1.77 มีการกระจายแสง 0.018
3. "มรกต" (Emerald) หรือ "แก้วอินทนิล" ภาษาบาลีเรียกว่า "อินฺทนีลํ" หมายถึง แก้วที่มีสีเขียวดั่งปีกแมลงทับ ส่วนคำว่า Emerald มาจากคำว่า "Smaragdos" ซึ่งเป็นภาษากรีกโบราณแปลว่า "หินสีเขียว" มรกตเป็นที่นิยมกันมากของชาวอียิปต์โบราณเมื่อ 3,000 - 1,500 ปีก่อนคริสตกาล อีกทั้งยังเป็นเครื่องประดับชิ้นโปรดที่คลีโอพัตราใช้สวมใส่ และมรกตยังถูกขุดพบตามหลุมฝังศพของชาวอียิปต์โบราณ และชาวอีทรัสคันโบราณ (Etruscan) อีกด้วย ในด้านความเชื่อ ชาวโรมันโบราณเชื่อกันว่ามรกตเป็นสัญลักษณ์ของเทพวีนัส (Venus) โดยสีเขียวของมรกตจะขจัดสิ่งชั่วร้ายและสิ่งอัปมงคลทั้งหลายให้หมดสิ้นไป อีกทั้งยังช่วยส่งสัญญาณเตือนภัยด้วยการเปลี่ยนสี เมื่อผู้ที่ได้ครอบครองเป็นเจ้าของกำลังจะตกอยู่ในสถานการณ์คับขัน หรืออันตรายที่ใกล้เข้ามา ในทางวิชาแร่ (Mineralogy) ได้ตรวจสอบพบว่า มรกตจัดอยู่ในประเภทแร่เบริล (Be3Al2Si6O18) มี Cr หรือ V เป็นธาตุร่องรอย ถ้ามี Fe จะได้เบริลสีเขียว มีค่าความแข็งระดับ 7.5 - 8 ในระบบของโมส์ (Moh's scale) มีค่าความถ่วงจำเพาะ 2.75 - 2.8 ค่าดัชนีหักเห 1.56 - 1.60 มีการกระจายแสง 0.014
4. "บุษราคัม" (Yellow Sapphire) ภาษาบาลีเรียกว่า "ปุสฺสราคํ" หมายถึง แก้วที่มีสีเหลืองเลื่อมพราย ในทางวิชาโหราศาสตร์โบราณของศาสนาพราหมณ์ จะถือเอาบุษราคัมเป็นอัญมณีตัวแทนของดาวพฤหัสบดี ซึ่งเป็นดวงดาวแห่งภูมิปัญญาและความเป็นคุรุ และในตำแหน่งของยันต์นพเคราะห์ จะกำหนดให้บุษราคัมเป็นอัญมณีประจำทิศเหนือของนพรัตนธรรมจักรเสมอ ทางด้านความเชื่อ เชื่อกันว่าบุษราคัมจะช่วยบันดาลให้เกิดความรุ่งโรจน์ในชีวิต นำมาซึ่งความสดใสร่าเริง และยังสามารถช่วยรักษาโรคภัยไข้เจ็บบางชนิดได้อีกด้วย ในทางวิชาแร่ (Mineralogy) ได้ตรวจสอบพบว่า บุษราคัมจัดอยู่ในประเภทแร่คอรันดัม (Al2O3) มี Fe3+ Color Center มีค่าความแข็งระดับ 9 ในระบบของโมส์ (Moh's scale) มีค่าความถ่วงจำเพาะ 3.99 - 4 ค่าดัชนีหักเห 1.76 - 1.78 มีการกระจายแสง Low (0.018)
5. "โกเมน" (Garnet) หรือ "แก้วรัตกาลมิศก" ภาษาบาลีเรียกว่า "รตฺตกาฬมิสฺสกํ" หมายถึง แก้วที่มีสีดำและสีแดงเจือปนกัน ส่วนคำว่า Garnet นั้น มาจากภาษาละตินโบราณว่า "Garanatus" หรือ "Granum" หมายถึง เมล็ดพืช ในยุคสำริดโบราณเมื่อประมาณ 3,000 ปีก่อนคริสตกาล ได้มีการขุดค้นพบโกเมนในรูปแบบของเครื่องประดับสร้อยคอลูกปัดอยู่ในหลุมศพของผู้ชาย และในศตวรรษที่ 18 - 19 ซึ่งตรงกับยุคสมัยของพระนางเจ้าวิกตอเรีย ที่ประเทศสเปน โกเมนได้รับความนิยมอย่างมาก ในการนำมาทำเป็นเครื่องประดับตกแต่งร่างกายของชนชั้นสูงในยุคนั้น ทางด้านความเชื่อ ชาวอียิปต์โบราณและชาวกรีกโบราณเชื่อกันว่า โกเมนมีคุณวิเศษด้านการรักษาโรคไขข้ออักเสบและการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ส่วนชาวสเปนเชื่อกันว่าโกเมนเป็นตัวแทนของดวงอาทิตย์ สามารถบันดาลให้เกิดความมั่นคงในชีวิต และความสุขสมหวังด้านความรักและมีคู่ครองที่ยั่งยืน ในทางวิชาแร่ (Mineralogy) ได้ตรวจสอบพบว่า โกเมนจัดอยู่ในระบบไอโซเมตริก (Isometric system) มีสูตรคือ A3B2(SiO4)3 มีค่าความแข็งระดับ 6.5 - 7.5 ในระบบของโมส์ (Moh's scale) มีค่าความถ่วงจำเพาะ 3.1 - 4.3 ค่าดัชนีหักเห 1.72 - 1.94 มีการกระจายแสง 0.022 - 0.057
6. "ไพลิน" (Blue Sapphire) หรือ "แก้วนิลกาฬ (นีลรัตน์)" ภาษาบาลีเรียกว่า "นีลํ" หมายถึง แก้วที่มีสีดั่งดอกอัญชันหรือดอกสามหาว ส่วนคำว่า Blue Sapphire นั้น มาจากภาษาละตินโบราณว่า "Sapphirus" หมายถึง สีฟ้าหรือสีน้ำเงิน และมาจากภาษากรีกโบราณว่า "Sappheiros" หมายถึง หินสีน้ำเงิน ไพลินดิบจากประเทศศรีลังกาได้เป็นที่รู้จักแพร่หลายครั้งแรกของโลกเมื่อประมาณ 2,800 ปีที่แล้ว ซึ่งชาวศรีลังกาโบราณในยุคนั้น ได้ใช้ไพลินดิบทำการค้าขายแลกเปลี่ยนกันกับจักรวรรดิโรมัน โดยใช้เส้นทางทะเลเมดิเตอร์เรเนี่ยน และหลังจากนั้นอีก 200 ปี (ประมาณ 2,600 ปีที่แล้ว) ชาวอีทรัสคันโบราณ (Etruscan) ได้เกิดความนิยมนำไพลินดิบจากประเทศศรีลังกา มาทำเป็นเครื่องประดับตกแต่งร่างกายเช่นเดียวกันกับมรกต ทางด้านความเชื่อ ชาวกรีกโบราณ ชาวโรมันโบราณ และชาวอียิปต์โบราณ ล้วนมีความเชื่อที่ตรงกันว่า ไพลินเป็นหินศักดิ์มีพลังอำนาจที่ยิ่งใหญ่ สามารถปกป้องคุ้มครองผู้ที่สวมใสได้ อีกทั้งยังเป็นอัญมณีที่เป็นสัญลักษณ์ของพระมหากษัตริย์ โดยผู้นำจักรวรรดิโบราณทั้งหลายในอดีต ต่างเจาะจงเลือกใช้ไพลินเป็นเครื่องประดับประจำกายส่วนพระองค์อีกด้วย ในทางวิชาแร่ (Mineralogy) ได้ตรวจสอบพบว่า ไพลินจัดอยู่ในประเภทแร่คอรันดัม (Al2O3) มี Fe2+ และ Ti4+ เป็นธาตุร่องรอย มีค่าความแข็งระดับ 9 ในระบบของโมส์ (Moh's scale) มีค่าความถ่วงจำเพาะ 4 ค่าดัชนีหักเห 1.76 - 1.77 มีการกระจายแสง 0.018
7. "มุกดาหาร" (Moonstone) ภาษาบาลีเรียกว่า "มุตฺตาหารํ" หมายถึง แก้วที่มีสีคล้ายกันกับไข่มุก (แต่ไม่ใช่ไข่มุก) มีลักษณะเลื่อมพรายดูงามจำเริญตา มุกดาหารถูกค้นพบครั้งแรกที่ประเทศอินเดียในสมัยที่จักรวรรดิโรมันและกรีกเรืองอำนาจเมื่อประมาณ 2,000 กว่าปีที่แล้ว ต่อมาพลินิผู้อาวุโส (Pliny the Elder) นักธรรมชาติวิทยาชาวโรมัน ได้ตั้งชื่อเรียกมุกดาหารที่มาจากอินเดียเป็นภาษาโรมันว่า "Astrions" ซึ่งหมายถึง "หินแห่งดวงดาว" เนื่องจากมันมีลักษณะคล้ายกันกับดวงดาวที่ส่องแสงสดใสในยามค่ำคืน ทางด้านความเชื่อ ชาวอียิปต์โบราณเชื่อกันว่า มุกดาหารเป็นตัวแทนของเทพธิดาไอซิส (Isis) ซึ่งเป็นเทพธิดาแห่งเวทย์มนต์และความอุดมสมบูรณ์ ชาวโรมันโบราณเชื่อกันว่า มุกดาหารเป็นตัวแทนของเทพธิดาไดอาน่า (Diana) ซึ่งเป็นเทพธิดาแห่งดวงจันทร์ ส่วนชาวกรีกโบราณจะเชื่อกันว่า มุกดาหารเป็นตัวแทนของเทพีเซลีนี (Selene) ซึ่งเป็นเทพีแห่งดวงจันทร์ ทั้งชาวอียิปต์โบราณ ชาวโรมันโบราณ และชาวกรีกโบราณ ล้วนมีความเชื่อที่ตรงกันว่า หากนำมุกดาหารไปแขวนไว้บนต้นไม้ จะช่วยทำให้พืชผลเกิดความอุดมสมบูรณ์ และถ้านำมุกดาหารไปทำเป็นเครื่องประดับตกแต่งร่างกาย ก็จะช่วยชักนำแต่สิ่งที่ดีเข้ามาในชีวิตให้กับผู้ที่ได้สวมใส่มัน ในทางวิชาแร่ (Mineralogy) ได้ตรวจสอบพบว่า มุกดาหารจัดอยู่ในประเภทแร่เฟลด์สปาร์ (KAlSi3O8) มีค่าความแข็งระดับ 6 ในระบบของโมส์ (Moh's scale) มีค่าความถ่วงจำเพาะ 2.56 - 2.61 ค่าดัชนีหักเห 1.52 - 1.53 มีการกระจายแสง 0.012
8. "เพทาย" (Zircon) หรือ "แก้วโอทาตปีตมิศก" ภาษาบาลีเรียกว่า "โอทาตปีตมิสฺสกํ" หมายถึง แก้วเพทายชนิดหนึ่ง ส่วนคำว่า Zircon นั้น มาจากคำว่า Zargun ซึ่งเป็นภาษาเปอร์เซีย แปลว่า "สีเหมือนทอง" (หมายถึงทองสำริด) และมาจากคำว่า Zarkun ซึ่งเป็นภาษาอาหรับ แปลว่า "สีแดงเหมือนชาด" เพทายเป็นที่รู้จักกันดีของชาวอินเดียโบราณและชาวศรีลังกาโบราณมานานกว่า 2,000 ปีแล้ว โดยชาวฮินดูและชาวศรีลังกาโบราณจะเรียกเพทายว่า "แก้วผักตบ" (Hyacinth หรือ Jacinth) ต่อมาในราวคริสตศตวรรษที่ 6 เพทายได้รับความนิยมและเป็นที่ต้องการอย่างมากของชาวกรีกและชาวอิตาลี ทางด้านความเชื่อ ตามตำนานเก่าแก่ของชาวยิวเชื่อกันว่า เพทายเป็นสัญลักษณ์ของความซื่อสัตย์ ซึ่งจะนำความเจริญรุ่งเรืองมาให้กับผู้ที่ได้สวมใส่ ส่วนเพทายชนิดสีแดงสลัว เชื่อกันว่าจะสามารถขับไล่วิญญาณชั่วร้ายและฝันร้ายให้หมดสิ้นไปได้ ในทางวิชาแร่ (Mineralogy) ได้ตรวจสอบพบว่า เพทายจัดอยู่ในประเภทแร่เซอร์โคเนียม (ZrSiO4) มีค่าความแข็งระดับ 6.8 - 7.5 ในระบบของโมส์ (Moh's scale) มีค่าความถ่วงจำเพาะ 4.6 - 4.7 ค่าดัชนีหักเห 1.92 - 2.01 มีการกระจายแสง 0.039
9. "ไพฑูรย์" (Chersoberyl) ภาษาบาลีเรียกว่า "เวฬุริยํ" หมายถึง แก้วที่มีสีเหลืองเลื่อมพรายดั่งสีของบุปผชาติทั้งหลาย ส่วนคำว่า Chersoberyl เป็นคำผสมที่มาจากภาษากรีกคำว่า Beryl หมายถึง "สีเขียว" กับคำว่า Chryso หมายถึง "ทอง" ไพฑูรย์เป็นอัญมณีที่ชาวเอเชียโบราณและชาวกรีกโบราณรู้จักกันดีมานานกว่า 2,000 ปีแล้ว และในปี ค.ศ.1837 ซึ่งตรงกับยุคสมัยของพระนางเจ้าวิกตอเรีย ไพฑูรย์ได้รับความนิยมสูงสุดในยุโรปเนื่องจากมันมีราคาที่ถูกกว่าเพชรสีเขียว (Chrysolite) ทางด้านความเชื่อ เชื่อตรงกันทั่วโลกว่าไพฑูรย์จะช่วยกระตุ้นให้เกิดความเชื่อมั่นและภาวะผู้นำ อีกทั้งยังช่วยรักษาโรคบางชนิดได้อีกด้วย ในทางวิชาแร่ (Mineralogy) ได้ตรวจสอบพบว่า ไพฑูรย์จัดอยู่ในประเภทแร่คริโซเบริล (BeAl2O4) มีค่าความแข็งระดับ 8.5 ในระบบของโมส์ (Moh's scale) มีค่าความถ่วงจำเพาะ 3.5 - 3.84 ค่าดัชนีหักเห 1.74 - 1.75 มีการกระจายแสง 0.015
|
ไปหน้าแรก |
ห้องจำหน่ายแก้วนพรัตน์ |