มีตำนานเล่าขานสืบต่อกันมาแต่โบราณว่า ครั้งหนึ่งมีพรานล่าเนื้อได้ขึ้นไปล่าสัตว์บนดอยโป่งหลวง (ปัจจุบันอยู่ในเขตปกครองของบ้านแม่แก่ง ตำบลแม่ถอด อำเภอเถิน จังหวัดลำปาง ซึ่งพื้นที่นี้อยู่ห่างจากอำเภอเถินไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือค่อนไปทางเหนือ ประมาณ 14 ก.ม. มีความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 350 เมตร) ปกตินายพรานผู้นี้เป็นคนมีฝีมือชำนาญในการยิงหน้าไม้ได้อย่างแม่นยำมาโดยตลอด เมื่อเขาได้ขึ้นไปล่าสัตว์บนดอยโป่งหลวง ได้พบเจอกับสัตว์มากมายแต่ที่น่าอัศจรรย์ก็คือ เขายิงสัตว์ทั้งหลายไม่ถูกเลย ไม่ว่าจะเพียรพยายามสักเท่าใดก็ตาม ยังความประหลาดใจในฝีมือของตนเป็นอย่างมาก เห็นว่าผิดสังเกตกว่าปกติจากที่เขาเคยล่าสัตว์บนดอยอื่น ๆ ที่ผ่านมา จึงเกิดความสงสัยขึ้นว่าจะต้องมีบางสิ่งบางอย่างบนดอยโป่งหลวงที่มีอานุภาพคุ้มครองสัตว์เหล่านั้นให้แคล้วคลาดจากลูกดอกของตนได้ เขาจึงขนานนามพื้นที่ตรงนั้นว่า “โป่งข่าม” คำว่า “ข่าม” เป็นภาษาท้องถิ่น แปลว่า แคล้วคลาดรอดพ้นจากอันตราย หรือคงกะพันทำอันตรายไม่ได้นั่นเอง
ต่อมาพื้นที่รอบ ๆ ดอยโป่งหลวงได้เกิดไฟป่าเผาไหม้ลุกลามไปทั่ว แต่บริเวณผืนป่าบนดอยโป่งหลวงกลับไม่ถูกเผาไหม้จากไฟป่าเลย หลังจากไฟป่าสงบลงชาวบ้านได้เข้าไปตรวจสอบที่ดอยโป่งหลวงและพบว่า ที่พื้นดินทั่วไปบนดอยโป่งหลวงมีแก้วอย่างหนึ่งลักษณะเป็นแท่งสีฟ้าออกน้ำเงินอมเทา ตรงส่วนปลายมีลักษณะแหลม (คนไทยโบราณตั้งชื่อตามลักษณะที่พบเห็น โดยเรียกกันว่า “ แร่เขี้ยวหนุมาน ” เพราะเป็นแท่งปลายแหลมเหมือนเขี้ยว) ซึ่งแก้วลักษณะดังกล่าวมีขนาดใหญ่เล็กปะปนกัน กระจัดกระจายไปทั่วบริเวณทั้งหมดของดอยโป่งหลวง ชาวบ้านต่างพากันเชื่อว่า น่าจะเป็นเพราะบนดอยโป่งหลวงแห่งนี้มีแก้วชนิดนี้อยู่ จึงสามารถคุ้มครองป้องกันภยันอันตรายต่าง ๆ ได้ ดังนั้นชาวบ้านต่างพากันขุดเอาหน่อแก้วเหล่านั้นมาเก็บบูชาไว้ที่บ้าน บ้างก็เก็บรักษาติดตัวเอาไว้ เมื่อข่าวนี้ได้แพร่หลายออกไปจากปากต่อปาก ผู้คนจากทั่วทุกสารทิศไม่ว่าจะเป็นสามัญชนหรือผู้มีอำนาจต่างก็เข้ามาแสวงหาหน่อแก้วหรือแก้วโป่งข่ามจากดอยโป่งหลวงมาเก็บไว้บูชาตาม ๆ กันตราบจนทุกวันนี้ เกี่ยวกับแก้วโป่งข่าม ในสมัยโบราณยึดถือกันว่าเป็นสิ่งล้ำค่าสูงส่งอย่างหนึ่ง ซึ่งคู่ควรสำหรับใช้เป็นเครื่องราชบรรณาการแด่พระมหากษัตริย์เท่านั้น จากหลักฐานบางตอนของพงศาวดารพม่าจารึกไว้ว่า “.........ปีพุทธศักราช 1000 โดยประมาณในแผ่นดินศรีเกษรพุกามประเทศ พระมหากษัตริย์ผู้ครองนครขณะนั้นคือพระเจ้าอนุรุทธราชาธิราช (ภาษาบาลี) หรือ มังมหาอโนรธาช่อ (ภาษามอญ) พระองค์เป็นกษัตริย์ที่มีพระอานุภาพมาก บริบูรณ์ด้วยพลช้างพลม้าและทหารมากมาย แต่พระองค์ก็เป็นกษัตริย์ที่ตั้งมั่นอยู่ในสัมมาทิฐิ ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาอย่างดียิ่ง พระศีลขันธ์ภิกษุ และพระอาจารย์ (ไม่ได้ระบุนาม) ได้ทำการพิจารณาพระไตรปิฎก ท่านเกิดสงสัยว่าพระไตรปิฎกธรรมในแผ่นดินพม่ารามัญทั้งปวงนั้น เห็นจะผิดอักขระไม่ต้องตามกระแสพระพุทธฎีกา จึงทูลพระเจ้าอนุรุทธไปตามนั้น พระเจ้าอนุรุทธได้ทรงสดับก็มีพระศรัทธาเลื่อมใส จึงตรัสถามถึงที่ตั้งของพระไตรปิฎกธรรมฉบับที่ถูกต้อง พระศีลขันธ์จึงทูลว่า พระไตรปิฎกฉบับที่สมบูรณ์ถูกต้องนั้น คือพระไตรปิฎกฉบับพระพุทธโฆษาจารย์เถระที่ลังกาทวีป พระเจ้าอนุรุทธจึงมีพระราชโองการ ดำรัสสั่งเสนาบดีให้แต่งสำเภาเชิญพระราชสาส์นสองลำ ให้แต่งพระราชสาส์นเป็นภาษามคธจารลงในแผ่นพระสุพรรณบัฏ และเครื่องราชบรรณาการอันเป็นต้นว่า ดินสอแก้ว น้ำมันดิน พลอย ทับทิม รัตนชาติหลากชนิด และสิ่งของอื่นๆเป็นอันมาก แล้วโปรดให้อาราธนาพระภิกษุที่ทรงคุณธรรม 8 รูป ซึ่งรวมถึงพระศีลขันธ์ภิกษุและพระอาจารย์ พร้อมด้วยเสนาอำมาตย์ราชบุรุษ ทั้งราชทูต อุปทูต ตรีทูต และไพร่พลพอสมควร คุมพระราชสาส์นและเครื่องมงคลบรรณาการ โดยที่พระองค์เองประทับสำเภาพระที่นั่ง และพลทหารบริวารอีกหนึ่งลำ รวมเป็นสี่ลำ มุ่งหน้าสู่ลังกาทวีป.........” |