วัดโปรดเกษ ตั้งอยู่เลขที่ ๗๔ คลองพระอุดม หมู่ ๒ ต.คลองพระอุดม อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี จัดเป็นวัดที่เก่าแก่วัดหนึ่งของจังหวัดนนทบุรี สร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช (สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี , ทรงขึ้นครองราชย์ระหว่างปี พ.ศ.๒๓๑๐ - พ.ศ.๒๓๒๕) โดยได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อปี พ.ศ.๒๓๑๗
ต่อมา ในราวปี พ.ศ.๒๕๑๘ (หรือก่อนหน้านั้น) ได้มีกลุ่มคนร้ายทำการลักลอบขุดสมบัติ ซึ่งบรรจุอยู่ในพระเจดีย์เก่าภายในวัด ได้เครื่องประดับซึ่งทำจากทองคำ , เงิน , และนาค ไปจำนวนมาก แต่ยังมีบางส่วนหลงเหลืออยู่ภายในพระเจดีย์ ซึ่งทางวัดโปรดเกษได้พยายามป้องกัน โดยให้ช่างปูนโบกปูนอุดซ่อมที่องค์พระเจดีย์ ตรงจุดที่คนร้ายทำการลักลอบขุด แต่ต่อมา กลุ่มคนร้ายก็ยังแอบเข้าไปลักลอบขโมยขุดพระเจดีย์องค์เก่านั้นอยู่เรื่อยๆ จนในที่สุดทางวัดจึงได้ตัดสินใจเปิดกรุพระเจดีย์เก่า แล้วนำพระเครื่องซึ่งหลงเหลืออยู่ภายในพระเจดีย์ ออกให้ประชาชนทั่วไปได้เช่าบูชา เพื่อนำรายได้มาพัฒนาซ่อมแซมและบูรณะวัดโปรดเกษต่อไป
ลักษณะของพระบูชาและพระเครื่องกรุวัดโปรดเกษ ภายหลังจากที่ทางวัดโปรดเกษ ได้ทำการเปิดกรุพระเจดีย์เก่าอย่างเป็นทางการแล้ว ได้พบพระบูชาและพระเครื่อง ซึ่งเหลือรอดจากการถูกขุดขโมยอีกเป็นจำนวนมาก ในส่วนของพระบูชา เท่าที่พบมีทั้งพระบูชาเนื้อสำริดขนาดใหญ่ ศิลปะสมัยกรุงศรีอยุธยา และพระบูชาขนาดเล็กศิลปะสมัยกรุศรีอยุธยาเช่นเดียวกัน มีทั้งชนิดที่เป็นเนื้อทองคำ , เนื้อเงิน , เนื้อนาก , เนื้อสำริด , เนื้อชินตะกั่ว , และพระบูชาเนื้อแก้ว (พระแก้วน้ำประสาน) ซึ่งมีด้วยกัน ๒ แบบพิมพ์ คือ พิมพ์มารวิชัย (ชนะมาร) และพิมพ์สมาธิฐานผ้าทิพย์
ในส่วนของพระเครื่อง เท่าที่พบ มีทั้งพระเครื่องเนื้อชินตะกั่วสนิมแดง - เนื้อชินเงิน แบบพิมพ์พระมีลักษณะคล้ายกันกับพระเครื่องกรุวัดมเหยงคณ์ จ.พระนครศรีอยุธยา นอกจากนี้ ยังพบพระเครื่องเนื้อดินเผาชนิดเนื้อดินละเอียด คล้ายกับเนื้อดินของพระเครื่องเมืองกำแพงเพชร หรือ คล้ายกับพระเครื่องของหลวงพ่อโหน่ง วัดคลองมะดัน จ.สุพรรณบุรี มีด้วยกันหลายแบบพิมพ์ เช่น พิมพ์พระรอด , พิมพ์พระคง , พิมพ์พระปิดตา , พิมพ์พระถ้ำเสือ , พิมพ์พระอู่ทอง , พิมพ์พระพุทธใหญ่ เป็นต้น.
เมื่อพิจารณาโดยละเอียดแล้วจะพบว่า ทั้งพระบูชาและพระเครื่องกรุวัดโปรดเกษโดยรวม สามารถจำแนกแยกประเภทของเนื้อพระ ซึ่งแบ่งออกได้เป็น ๓ ลักษณะใหญ่ๆ คือ
ในส่วนของพระประเภทเนื้อโลหะในข้อ ๑ (ทั้งพระขนาดบูชาและพระเครื่อง) รวมทั้งพระเครื่องชนิดเนื้อดินเผาในข้อ ๒ พบว่า เป็นพระที่ถูกสร้างขึ้นมาในสมัยกรุงเก่า ตั้งแต่กรุงศรีอยุธยายังเป็นราชธานี สันนิษฐานกันว่า ภายหลังจากที่พระเจ้าตากสินมหาราช ได้ทรงย้ายเมืองหลวงจากกรุงศรีอยุธยา มาสร้างเมืองหลวงใหม่ที่กรุงธนบุรี ทั้งข้าราชบริพาร พ่อค้า ประชาชน และพระภิกษุสงฆ์ ได้ติดตามเสด็จมาอยู่ที่เมืองหลวงใหม่กรุงธนบุรีด้วย พร้อมกันนั้น ในส่วนของพระภิกษุสงฆ์ ก็ได้รวบรวมนำเอาพระบูชาตามวัดต่างๆในกรุงศรีอยุธยา ที่เหลือรอดจากการเผาทำลายของพม่า ตลอดจนพระเครื่องขนาดเล็ก ซึ่งบรรจุอยู่ในองค์พระเจดีย์ที่พังทลายจากวัดร้างต่างๆ ลำเลียงใส่เรือแล้วล่องมาตามแม่น้ำเจ้าพระยา มุ่งเข้าสู่กรุงธนบุรีเมืองหลวงใหม่ให้มากที่สุด ดังนั้น ทั้งพระประเภทเนื้อโลหะ และ พระประเภทเนื้อดินเผา ซึ่งบรรจุอยู่ภายในองค์พระเจดีย์วัดโปรดเกษ จึงน่าจะมีอายุความเก่าประมาณ ๓๐๐ ปีขึ้นไป
ย้อนกลับไปในปี พ.ศ.๒๓๑๗ เมื่อการก่อสร้างวัดโปรดเกษได้เสร็จสิ้นลงเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก็ได้มีการนำเอาพระบูชาและพระเครื่องเนื้อต่างๆ ที่ได้ลำเลียงขนใส่เรือมาจากกรุงศรีอยุธยา นำไปบรรจุไว้ในองค์พระเจดีย์ภายในวัดโปรดเกษส่วนหนึ่ง และอีกส่วนหนึ่งคือพระแก้วน้ำประสาน สัณนิษฐานกันว่า ทางวัดโปรดเกษ น่าจะหล่อพระแก้วน้ำประสานขึ้นมาในช่วงเวลาขณะนั้น (ในปี พ.ศ.๒๓๑๗) เพื่อเฉลิมฉลองในการสร้างวัดใหม่ โดยใช้แม่พิมพ์เดิมของพระบูชาขนาดเล็กที่ขนใส่เรือมาจากกรุงศรีอยุธยา มาเป็นแม่พิมพ์ในการหล่อพระแก้วน้ำประสาน ด้วยกรรมวิธีหล่อเททีละองค์ แบบเดียวกับการสร้างพระบูชาขนาดเล็กโบราณทั่วๆไป จากนั้นจึงได้นำเอาพระแก้วน้ำประสานที่สร้างขึ้นมาในครั้งนั้น บรรจุลงไปในองค์พระเจดีย์ พร้อมกันกับพระบูชาและพระเครื่องที่ได้ขนย้ายมาจากกรุงศรีอยุธยา จึงนับได้ว่า พระแก้วน้ำประสานกรุวัดโปรดเกษ จัดเป็นพระบูชาประเภทพระเนื้อแก้วหล่อ ซึ่งถูกค้นพบเป็นกรุแรกของประเทศไทย และมีอายุความเก่าที่มากกว่าบรรดาพระบูชาชนิดแก้วหล่อทั้งหลายในประเทศไทยอีกด้วย คือมีอายุความเก่าถึง ๒๓๖ ปี (นับจากปี พ.ศ.๒๓๑๗ - พ.ศ.๒๕๕๓)
หลักเบื้องต้นในการพิจารณาพระกรุวัดโปรดเกษ
ประเภทพระบูชาขนาดใหญ่ : เป็นพระพุทธรูปนั่งไม่ทรงเครื่อง สมัยอยุธยาตอนกลาง - ตอนปลาย เนื้อสำริด มีสนิมเขียวและดินกรุติดอยู่ตามซอกขององค์พระ พื้นผิวของพระไม่สมบูรณ์ เนื่องจากมีการกัดกร่อนตามธรรมชาติ จากสภาพแวดล้อมภายในกรุพระ
ประเภทพระบูชาขนาดเล็ก : เป็นพระบูชานั่งไม่ทรงเครื่อง สมัยอยุธยาตอนปลาย มีทั้งพระปางมารวิชัย (องค์พระอวบล่ำล้อศิลปะแบบขนมต้ม) และ พระปางสมาธิ (องค์พระชะลูดล้อศิลปะแบบสุโขทัย - อู่ทอง) ในพระบูชาขนาดเล็กเนื้อชินตะกั่ว บางองค์จะมีการปิดทองเดิมมาจากในกรุ ส่วนบางองค์ก็ไม่ได้ปิดทอง สำหรับดินใต้ฐานพระ จะมีลักษณะเป็นแบบพระบูชาขนาดใหญ่ ให้ใช้หลักในการพิจารณาเดียวกัน กับการพิจารณาดินใต้ฐานของพระบูชาขนาดใหญ่ทั่วๆไป
ประเภทพระเครื่องเนื้อชิน : ไม่มีการจดบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรที่ชัดเจน จึงรับทราบข้อมูลได้แค่คำบอกเล่าจากชาวบ้านในละแวกวัด และผู้ซึ่งนิยมสะสมพระเครื่องอาวุโสในท้องถิ่นว่า มีอยู่ด้วยกันหลายแบบพิมพ์ ทั้งพระเนื้อชินตะกั่วสนิมแดงและพระเนื้อชินเงิน ลักษณะโดยรวมจะเหมือนกันกับพระเนื้อชินทั่วๆไป ที่ถูกค้นพบตามกรุวัดต่างๆในเขตจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งพระเครื่องเนื้อชินกรุวัดโปรดเกษ มักจะถูกผู้ที่นำพระไปขายปกปิดความจริง โดยบิดเบือนว่าเป็นพระเนื้อชินกรุวัดอื่นที่มีชื่อเสียง เพื่อหวังประโยชน์ด้านราคาในเชิงพุทธพาณิชย์
ประเภทพระเครื่องเนื้อดินเผา : จัดเป็นพระที่มีจำนวนมากที่สุดของกรุวัดนี้ และเป็นที่รู้จักหรือพบเห็นกันอยู่เสมอโดยทั่วไป อีกทั้งยังเป็นพระเครื่องที่ผู้ทำพระปลอม นิยมทำการปลอมแปลงมากที่สุด คือมากกว่าบรรดาพระประเภทอื่นๆที่ถูกค้นพบจากกรุเดียวกัน ซึ่งพระกรุวัดโปรดเกษประเภทเนื้อดินเผาของปลอมนั้น มีการทำปลอมทุกพิมพ์และมีทำปลอมมานานกว่า ๒๐ ปีแล้ว คนที่ทำพระปลอมมีหลายคน หลากหลายฝีมือต่างกรรมต่างวาระกัน ทั้งฝีมือที่ทำปลอมได้ใกล้เคียงเหมือนพระของแท้ และฝีมือทำปลอมแบบห่างไกล อย่างไรก็ตาม หลักในการพิจารณาพระกรุวัดโปรดเกษเนื้อดินเผาของแท้นั้น มีด้วยกันหลายประการ แต่หลักพื้นฐานที่ง่ายที่สุดในการพิจารณาก็คือ พระเนื้อดินเผาของแท้จากกรุพระวัดนี้ทุกพิมพ์และทุกองค์ จะต้องมี "แร่ทรายทอง" ปะปนอยู่ในเนื้อดินให้ได้มองเห็นทุกองค์ (ดูตามรูปประกอบบทความ) อย่างน้อยที่สุด จะต้องมีแร่ทรายทองหนึ่งชิ้นบนพื้นผิวพระให้ได้สังเกตเห็น และอย่างมากที่สุด จะมีแร่ทรายทองไม่เกินห้าชิ้นปนอยู่ในเนื้อพระ หากพระเนื้อดินเผากรุวัดโปรดเกษองค์ใด ไม่มีแร่ทรายทองปนอยู่ในเนื้อพระเลย สามารถสรุปได้ทันทีว่าพระองค์นั้นเป็น "พระปลอม" หรือถ้ามีแร่ทรายทองในปริมาณที่มากจนเกินไป ก็ให้ถือว่าเป็นพระปลอมอีกเช่นกัน (ส่วนหลักในการพิจารณาองค์ประกอบร่วมอย่างอื่น ขออนุญาตสงวนไว้เพื่อป้องกันผู้ที่ทำพระปลอม ซึ่งอาจจะทำการปลอมแปลง โดยลอกเลียนแบบจากวิธีการพิจารณาพระกรุวัดโปรดเกษที่เป็นของแท้) ประเภทพระเนื้อแก้วน้ำประสาน : เป็นพระเนื้อแก้วที่ถูกสร้างขึ้นด้วยกรรมวิธีโบราณ ผ่านกระบวนการความร้อนในการหลอมแก้ว แล้วเทใส่เบ้าแม่พิมพ์ทีละองค์ (คำว่า "พระแก้วน้ำประสาน" หมายถึง พระแก้วที่ใช้ความร้อนหลอม - หล่อแบบ ตามกรรมวิธีโบราณด้วยมือมนุษย์ทีละองค์ โดยการเติมสารเคมีบางอย่างคล้ายน้ำประสานทอง ผสมลงไปกับวัตถุดิบในระหว่างกระบวนการทำแก้ว เพื่อให้ได้แก้วที่มีคุณภาพดีที่สุดเท่าที่องค์ความรู้ของคนโบราณในสมัยนั้นมีอยู่ จึงเกิดเป็นที่มาของชื่อเรียก "พระแก้วน้ำประสาน"....ส่วนพระแก้วที่หล่อจากโรงงานจะเรียกกันว่า "พระแก้วฉีดสมัยใหม่" ไม่นับว่าเป็นพระแก้วน้ำประสาน เพราะใช้วิธีการฉีดแก้วเหลวเข้าเบ้าแม่พิมพ์ด้วยเครื่องจักรอุตสาหกรรมจำนวนมาก ไม่ได้หล่อด้วยมือมนุษย์ทีละองค์ตามกรรมวิธีโบราณ อีกทั้งรายละเอียดเกี่ยวกับสูตรในการทำแก้วก็แตกต่างกันออกไปอีกด้วย....ส่วนพระที่ใช้วัตถุดิบอย่างอื่นนำมาแกะสลัก จะเรียกกันว่า "พระแกะสลัก" เช่น พระไม้แกะสลัก , พระแก้วจุ้ยเจี่ยแกะสลัก ฯลฯ คนละเรื่องกับพระแก้วน้ำประสานโดยสิ้นเชิง จึงไม่นับว่าเป็นพระแก้วน้ำประสาน.)
ในอดีตทั้งชาวอียิปต์ ชาวโรมัน ชาวตะวันออกกลาง รวมทั้งชาวอินเดีย ได้รู้จักกรรมวิธีการหล่อแก้วมานานกว่า ๗,๐๐๐ ปีมาแล้ว ซึ่งคนไทยในสมัยนั้น (ตรงกับยุคสมัยของอาณาจักรสุวรรณภูมิ และบ้านเชียง) ต่างก็ได้รู้จักและพบเห็นแก้วหลอมกันมาแล้ว ในรูปแบบของเครื่องประดับลูกปัดแก้วสีสันต่างๆ ซึ่งเรียกกันว่า "ลูกปัดแก้วบ้านเชียง" และ "ลูกปัดแก้วทวารวดี" (สามารถชมหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ลูกปัดแก้วทวารวดีได้ที่ พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติอู่ทอง ต.อู่ทอง อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี) ซึ่งลูกปัดแก้วทวารวดีเม็ดขนาดเล็กไม่ว่าจะสีใดก็ตาม เมื่อนำแว่นขยายส่องเข้าไปในเนื้อแก้ว จะพบเห็นเม็ดฟองอากาศปะปนอยู่ในเนื้อแก้วของลูกปัดแต่ละเม็ดเป็นส่วนใหญ่ มีเพียงลูกปัดบางเม็ดซึ่งเป็นส่วนน้อยเท่านั้น ที่ไม่มีเม็ดฟองอากาศปะปนอยู่ภายในเนื้อลูกปัดแก้วเลย ย่อมแสดงให้เห็นว่า แม้อารยธรรมของคนโบราณเมื่อ ๗,๐๐๐ กว่าปีที่แล้ว จะเรียนรู้ถึงเทคนิควิธีการหลอมแก้ว เพื่อใช้ทำเครื่องประดับและเครื่องใช้ชนิดอื่นๆแล้วก็ตาม แต่ก็ยังไม่สามารถพัฒนาเทคนิควิธีการไล่ฟองอากาศออกจากเนื้อแก้วได้ ซึ่งพระแก้วน้ำประสานกรุวัดโปรดเกษก็เช่นกัน โดยรวมของเนื้อแก้วจึงมีลักษณะที่ใกล้เคียงกัน กับเนื้อลูกปัดแก้วในสมัยโบราณเป็นอย่างมาก.
|